เรื่องเล่าจากปก มนต์เสน่ห์ของการสร้างสรรค์ข้ามกาลเวลา เล่มที่ผมถือนี้เป็น การ์ตูนรายสัปดาห์ The Zero ฉบับที่ 236 ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 1989 หรือราว ๆ เกือบ ๆ 30 ปี ที่ในเล่มจะอัดแน่นไปด้วยการ์ตูนดัง ที่นักอ่านคุ้นตากันหลายเรื่อง จากที่ผมเคยบอกไปว่า การ์ตูนยุคก่อนลิขสิทธิ์ในไทย หน้าปกจะเป็นการสร้างสรรค์โดยฝีมือคนไทย ซึ่งนักอ่านรุ่นราวคราวเดียวกันบางคนยังไม่ทราบเลยด้วยซ้ำ ด้วยฝีมือที่มีความเฉียบคม และสวยงาม ทำให้นักอ่านในยุคนั้น คิดว่าเป็นฝีมือของอาจารย์ญี่ปุ่น ไม่แปลกครับถ้านักอ่านในตอนนั้นจะไม่ทราบ ถ้าไม่ได้อ่านคำนำ หรือ ดูที่ลายเซ็นที่ศิลปินนักวาดฝากเอาไว้บนปก
ทำไมไม่ใช้ปกญี่ปุ่นครับอาจารย์..? นั่นคือคำถามที่น้อง ๆ ในคลาสเรียนมังงะของผมตั้งคำถามอย่างสงสัย เพราะน้อง ๆ คิดว่าเราเอาภาพของญี่ปุ่นมาใช้ตีพิมพ์ มันไม่ง่ายกว่าหรือ "ค่านิยม" ในยุคนั้นคือคำตอบครับ ยุคที่ทุกสำนักพิมพ์แข่งขันกันด้วยฝีมือ เพราะยังไม่มีลิขสิทธิ์ ไม่เพียงแค่การ์ตูน ทุกวงการในตอนนั้น มีเสรีเรื่องการทำงานออกมาแข่งขันกัน ทั้งภาพยนตร์ เพลง และในส่วนของหนังสือการ์ตูนเองทุกสำนักพิมพ์ก็จะทำเรื่องเดียวกัน "ชนกันเอง" สิ่งที่จะทำให้นักอ่านซื้อ นอกจากความเร็วในการวางแผงแล้ว ก็คือ "หน้าปก" และคำแปล ใครวาดสวยเข้าตา นักอ่านก็ซื้อของสำนักพิมพ์นั้น และอีกเหตุผลที่ไม่ใช้ปกญี่ปุ่น เพราะปกญี่ปุ่นเมื่อนำมาตีพิมพ์ สีจะดร็อปลง ในตอนนั้นวงการมังงะแปลไทย มีการแข่งขันกันสูงมาก ใครใช้ปกญี่ปุ่น ถือว่า "ไม่มีฝีมือ" ทุกสำนักพิมพ์ทำเรื่องดังชนกัน คนเขียนปกเองก็แข่งกันเองกับสำนักพิมพ์อื่น ถ้าเรื่องไหนเขียนชนกันและเขียนสู้เขาไม่ได้ ก็จะโดน บก. เรียกมาตำหนิ คนเขียนปกจึงต้อง "เขียนให้เนี๊ยบกว่าต้นฉบับ" ทั้งการตัดเส้นด้วยพู่กันที่งดงาม และการเกลี่ยสีให้ประณีตกว่าต้นแบบ เพราะบางเรื่องอาจารย์ก็ลงสีมาไม่สวยเลย ด้วยการจำลองภาพที่สมบูรณ์แบบ การตัดเส้นที่คมชัด ลงสีสด เวลาพิมพ์ ภาพและสีจะโดดเด่นเวลาวางบนแผง
น้อง ๆ ในคลาสก็เอ่ยขึ้นมาว่า เขียนตามรูปที่มี "มันก็ไม่ยากน่ะสิ" แต่เพราะต้องเขียนตามแบบ และต้องเนี๊ยบและเจ๋งกว่าต้นฉบับ "นี่จึงเป็นจุดยาก" ซึ่งกว่าจะได้ขึ้นมาเขียนปก กว่าจะได้ขึ้นชื่อว่า “คนเขียนปก” ได้นั้น จะต้องผ่านการฝึกมาอย่างหนักพอสมควร และส่วนมากจะมาจากทางสายประกวด ส่งภาพมาประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศกันบ่อย ๆ จนทำให้ทางสำนักพิมพ์สนใจ ทาบทามมาทดลองงาน ปกแล้วปกเล่า กว่าจะมีฝีมือมากพอที่จะสามารถรับผิดชอบหนังสือหัวดัง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะใคร ๆ ก็อยากจะเขียนปกหนังสือรายสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงทดลองงาน จะได้เริ่มจากเขียนรวมเล่มก่อน จึงมีการแข่งขันกันสูงมากเพื่อตำแหน่งนี้ หนังสือมีหลายเล่มที่จะถูกตีพิมพ์ แต่หน้าปกจะถูกผูกขาดกับยอดฝีมือเจ้าประจำ จึงไม่ง่ายที่จะแทรกตัวไปแฝงบนปกได้ ภาพไหนสวยสุด ก็จะถูกเอามาลงรายสัปดาห์ เพราะต้องเอาไปแข่งกับสำนักพิมพ์อื่นจึงต้องดีที่สุด และจากเรื่องเดียวกัน แต่สวยไม่พอลงรายสัปดาห์ ก็จะเอามาทำเป็นรวมเล่ม บางครั้งก็ปกหลัง เมื่อก่อนผมเองจะคิดว่า ปกที่สวยจะต้องรวมเล่ม แต่กลับตรงกันข้าม หน้าปกบางเรื่องไม่สวยพอจะเป็นปก คนเขียนปกก็จะไปหาภาพจากในเรื่องมาจัดองค์ประกอบเอง และคิดสีเอง เพราะบางเรื่องแบบสีไม่มี หรือบางทีมี แต่ไม่สวยเข้าตานักอ่านไทย นักวาดปกจึงต้องใช้ทักษะศิลปะที่เรียนมาประกอบในการเขียน
คนเขียนปกมีความสำคัญกับสำนักพิมพ์มาก เพราะมันเป็นตัวบ่งบอกถึงยอดขาย ความนิยม นอกจากหัวหนังสือจะดังแล้ว คนเขียนปกก็จะได้ชื่อไปด้วย ผ่านลายเซ็นที่ฝากไว้บนปก พร้อมเครดิตที่บอกผ่านคำนำ นักอ่านอย่างผม จึงเห็นลายเซ็นบนปก ย้ายค่ายจากอีกสำนักพิมพ์นึง ไปอีกสำนักพิมพ์นึง และบางครั้งนักเขียนปกคนเดียวกันก็รับงานนอกสำนักพิมพ์ โดยไม่ให้สำนักพิมพ์ต้นสังกัดรู้ก็มี แต่จะดูออกผ่านลายเส้นและการลงสี และนักเขียนปกที่อยู่ในระดับชั้นแนวหน้าในตอนนั้น ก็คือ อ. POP และ อ. ZEN สองนักเขียนปกที่นักเรียนที่เรียนศิลปะหลาย ๆ คนใช้ฝึกและเขียนตาม รวมทั้งตัวผมเอง ด้วยสไตล์การลงสีที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ของนักวาดปกทั้งสอง ที่ทำให้หนังสือดูน่าสนใจ เมื่อวางรวมกันอยู่บนแผง ร่วมกับหนังสือของสำนักพิมพ์คู่แข่ง หลาย ๆ คนเลือกซื้อเพราะปก รวมทั้งผม ถึงแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม มันจึงเป็นอีกอาชีพที่ คนมีฝีมือเขียนรูปใฝ่ฝันอยากจะทำ แต่น้อยคนจะเอื้อมถึง ไว้มีโอกาสจะมาขยายความถึงมังงะแปลไทยในยุคก่อนลิขสิทธิ์ ในมุมมองของคนที่ทำงานมาหลายสำนักพิมพ์มาบอกเล่าให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกันนะครับ บอกเลยว่าการทำงานในตอนนั้น สนุกมาก ทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานที่ใส่ได้เต็มที่ ในยุคที่มีการแข่งขันสูง ผูกขาดอยู่กับไม่กี่สำนักพิมพ์ และทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทั้งที่การแข่งขันมันเป็นเสรี ไว้ผมจะมาบอกเล่าให้ฟังกันครับ
ปกเล่มนี้เป็น ฉบับประกาศ "ความเป็นหนึ่ง" เหนือคู่แข่ง กับยอดขายหลักแสนต่อสัปดาห์ ที่จะหาหนังสือเล่มไหนที่จะทำยอดขายได้แม้กระทั่งทุกวันนี้ เราเองก็กำลังทำโปรเจ็คตามรอยความทรงจำของมังงะแปลไทยตั้งแต่ยุคเริ่มต้น จนก่อนถึงยุคลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพต้นฉบับที่หาชมยากกว่า 500 รูป หนังสือหายาก และประวัติความเป็นมา จากคนที่ทำงานจริง ถึงแม้มุมมองนักอ่านในปี 80 กับนักอ่านปี 2021 จะแตกต่างกันในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ถดถอย แต่ที่ยังเหมือนกันคือ เรายังรักการอ่านการ์ตูน
ปกที่ผมถือนี้เป็นหน้าปกที่ถูกร่างภาพใหม่และ "เขียนขึ้นเองทั้งหมด" โดยไม่ผิดเพี้ยนจากต้นแบบ โดยฝีมือของ พี่ ZEN นักเขียนปกมือทองของยุคนั้น โดยใช้การ์ตูนดังในเล่มมาขึ้นปกแบบรวมหมู่